พื้นฐานทฤษฎีการรับรู้ ของสำนักภาชนะจิต
บทความที่เขียนโดยปราชญ์ของสำนักเงื่อนคำนวณ เพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับ ความหมายในการดำรงอยู่ของสำนักภาชนะจิต ซึ่งมีความหมายทางปรัชญาอย่างลึกซึ้ง

พื้นฐานทฤษฎีการรับรู้ ของสำนักภาชนะจิต

ผู้เขียน: Apuleius ผู้สืบทอดของสำนักเงื่อนคำนวณ

สำนักภาชนะจิตไม่เคยเขียนหนังสือหรือตั้งทฤษฎีใดๆ เพื่อตัวเอง ซึ่งนี่อาจทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ และทำให้เกิดการถกเถียงว่า "สำนักภาชนะจิตควรมีอยู่หรือไม่" ซึ่งตั้งแต่สำนักนี้เริ่มก่อตั้งขึ้น เรื่องนี้ก็มีให้ได้ยินอย่างไม่หยุดหย่อน และเนื่องด้วยเหตุนี้ ฉันจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา เพื่อวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลในการมีอยู่ของสำนักภาชนะจิต จากมุมมองของสำนักเงื่อนคำนวณ โดยบทความนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อน ขอให้ผู้อ่านทุกท่านวางใจได้

ก่อนอื่นต้องย้อนไปดูเจตนาการก่อตั้งสำนักภาชนะจิต ซึ่งว่ากันว่า ปราชญ์ผู้ก่อตั้งสำนักภาชนะจิตได้สรุปไว้ดังนี้: "ข้อมูลที่ได้รับโดยตรงจากประสาทสัมผัสนั้น มีความละเอียดอ่อนมากที่สุด และสิ่งที่ยังไม่ผ่านการประมวลผลจนมากเกินไปเหล่านั้น ก็จะกลายเป็นโลกที่สงบสุขที่สุดในสายตาของเรา" หรือพูดอีกอย่างก็คือ สำนักภาชนะจิตปฏิเสธที่จะเข้าใจและวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างสรรพสิ่ง จากมุมมองของเหตุผล แล้วไปตรวจสอบ "โลก" ที่สามารถรับรู้ได้ผ่านประสาทสัมผัสของตัวเองเท่านั้น ซึ่งตรงกันข้ามกับทางสำนักเงื่อนคำนวณ

ดังนั้น ผู้วิพากษ์วิจารณ์จึงมักจะคิดว่าในสายตาของสำนักเงื่อนคำนวณอย่างพวกเรา สำนักภาชนะจิตนั้นไม่ควรค่าแก่การพูดถึง... และเพราะเหตุนี้ จึงมักมีคนยุยงให้พวกเราออกหน้า "เสนอให้ยุบสำนักที่ใช้ทรัพยากรของลานพฤกษ์อย่างสิ้นเปลือง" อยู่เสมอ

แต่น่าเสียดาย แม้จะพิจารณาในมุมมองทางวิชาการเพียงอย่างเดียว สำนักเงื่อนคำนวณก็ยังไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ สำหรับพวกเราแล้ว สำนักภาชนะจิตเป็นต้นแบบที่ยอดเยี่ยมมาก พวกเขาพยายามรักษาปฏิกิริยาทางจิตใต้สำนึกของมนุษย์ต่อสรรพสิ่ง และใช้สิ่งนี้มาช่วยให้เรารู้จักจิตใจของตัวเองได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

เมื่อพูดถึงเรื่องนี้ ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงความเป็นนามธรรมได้ จึงจะขอยกตัวอย่างหนึ่ง (หรือจะพูดว่าเล่าเรื่องหนึ่งก็ได้) ครั้งหนึ่งฉันเคยไปเที่ยวที่ Okhema กับคุณ Socrippe จากสำนักภาชนะจิต ซึ่งระหว่างก็เกิดบทสนทนาขึ้นมา...

Apuleius (ต่อไปนี้เรียกว่า "A"): ความหมายของการอนุมานตรรกะที่มีต่อสรรพสิ่ง ก็เหมือนกับไททันแบกโลกาที่ยืนอยู่บนเมฆ

Socrippe (ต่อไปนี้เรียกว่า "S"): ฉันเห็นด้วย พวกมันก็เป็นเหมือนปราสาทที่ลอยอยู่ในอากาศ

A: หมายความว่ายังไง?

S: ถึงแม้ไททันแบกโลกาจะตั้งตระหง่านอยู่บนเมฆ แต่ภายใต้เมฆก็ยังมีคลื่นทมิฬพวยพุ่ง และวิธีที่เขาช่วยพวกเรา ก็คือการปกป้องเราไว้ในเมฆ และแม้ว่าอาคารจะสร้างอยู่กลางอากาศ แต่อย่างไรเสีย หากจะใช้มันก็ต้องมีบันไดอยู่ด้านล่าง

S: ทฤษฎีในสำนักเงื่อนคำนวณของพวกคุณก็เหมือนกัน ตรรกะความคิดของพวกคุณโชคดีที่ได้พบกับความจริงอันเป็นนิรันดร์ ดังนั้นก็เลยกอดพวกมันเอาไว้แน่น เพราะคิดว่าทำแบบนี้แล้ว จะทำให้จิตวิญญาณปลอดภัยในโลกที่เปลี่ยนแปลงยากจะคาดเดานี้ได้

A: ความจริงก็คือความจริง มันไม่สนหรอกว่ามนุษย์จะโอบกอดมันไว้หรือไม่

S: ดังนั้นความจริง จึงเป็นสิ่งที่ความงามตามธรรมชาติสำหรับคุณสินะ

A: ฉันไม่ปฏิเสธคำพูดนี้หรอก

S: ถ้าอย่างนั้นสำหรับฉัน สำนักเงื่อนคำนวณก็แค่จินตนาการประสาทสัมผัสชุดหนึ่งขึ้นมาเอง และบอกว่ามันสามารถมองเห็นทุกสิ่งได้ชัดเจนกว่าตา และได้ยินทุกอย่างชัดเจนกว่าหู

S: ...ขอโทษที่ต้องพูดตรงๆ นะ แต่นี่ก็ยังคงเป็นปราสาทกลางอากาศ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการปกป้องตัวเองอยู่ดี

A: ปกป้องอะไรของเรางั้นเหรอ?

S: ก็ปกป้องจิตใจของพวกคุณไงล่ะ ด้วยการทำให้พวกคุณละทิ้งประสาทสัมผัสทั้งหมดที่ไททันมอบให้ ความงามของพวกคุณจะเกิดขึ้นจากจินตนาการ... เพราะในความเป็นจริงนั้น ไม่มีเส้นตรงและวงกลม และไม่มีอนันต์หรือจำนวนเชิงลบด้วย

A: นี่ก็เพราะในความเป็นจริงไม่มีของพวกนี้อยู่ เราถึงต้องการพวกมัน เพื่อนำมาทำความเข้าใจความจริงไงล่ะ

S: งั้นพวกคุณก็แค่เดินย้อนอยู่บนลูกทรงกลมแล้วล่ะ เดินไปบนเส้นทางที่ไกลที่สุด เพียงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ที่แค่หันหลังกลับก็จะสัมผัสได้แล้ว

A: ถึงคุณจะพูดแบบนี้ แต่ฉันก็ไม่คิดว่าฉันรู้สึกสงบได้ หากละทิ้งการคิดหรอกนะ

S: ฉันไม่ได้ขอให้คุณเลิกคิด ฉันแค่แนะนำคุณต่างหาก ไปฟังสิ่งที่ประสาทสัมผัสบอกคุณสิ อันดับแรกคุณต้องยอมรับว่าความขัดแย้งนั้นมีอยู่ และใช้มันเป็นสมมติฐาน คุณถึงจะมีสายตาที่ชื่นชมความขัดแย้งได้

S: ...เฮ้อ การพูดตามแบบสำนักของคุณเพื่ออธิบายให้คุณเข้าใจนี่ ก็เหนื่อยเอาเรื่องเลยนะ

A: งั้นเหรอ? แล้วถ้าใช้วิธีแบบสำนักอันทรงเกียรติของคุณ จะอธิบายมุมมองเมื่อกี้ออกมายังไงล่ะ?

S: ถ้าคุณเป็นลูกศิษย์ของฉัน ฉันจะให้คุณนั่งอยู่ตรงนี้ และไม่ต้องคิดอะไร แต่ให้ใช้สายตาไปฟังเสียงลม และใช้หูดมกลิ่นของดอกไม้

A: ไม่เข้าใจ

S: โลกนี้ก็ไม่ได้ขอให้เราเข้าใจอะไรอยู่แล้ว ข้อมูลที่ประสาทสัมผัสมอบให้คุณนั้น ความจริงแล้วมีเนื้อหามากกว่าที่ตรรกะปัญญาของคุณ จะกลั่นกรองออกมาเพิ่มได้เสียอีก คุณเพียงแต่ปฏิเสธมันในขณะที่กำลังครุ่นคิดเท่านั้น

A: ฉันไม่คิดว่าสิ่งที่คุณแอบชี้เป็นนัยอยู่นี้ จะสามารถวิเคราะห์ได้ด้วยตรรกะปัญญาหรอกนะ

S: โอ้ งั้นฉันต้องแสดงความยินดีกับคุณแล้วสิ... ในที่สุดคุณก็เข้าใจก้าวแรกแห่งสำนักภาชนะจิตได้แล้ว

S: ใช่ เพราะ "ตรรกะปัญญา" ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ทุกอย่าง เราจึงต้องคอยระมัดระวังอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มันคิดว่าตัวเองทำได้ทุกอย่างไงล่ะ

S: ผู้คนมักบอกว่า ตรรกะปัญญาทำให้คนเราถ่อมตัว แต่สำหรับฉันแล้ว ความถ่อมตัวนี้เป็นแค่ความผยองตนอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้น และก็เพราะภาพลวงตาแบบนี้ พวกเราจึงเข้าใจผิดคิดว่าตัวเอง สามารถอยู่ร่วมกับการดำรงอยู่อันสูงสุดทั้งหมดได้อย่างเท่าเทียม

S: ถ้าพูดในแบบของสำนักเรา พวกคุณยึดติดอยู่กับคำว่า "ฉัน" มากเกินไป เพราะพวกคุณรู้สึกว่าไททันแห่งหมู่เมฆนั้นสวยงาม จึงจินตนาการถึงก้อนเมฆขึ้นมา แล้วบูชาตัวเองพร้อมกับไททันไว้บนนั้น

A: เธอไม่อาจปฏิเสธความงดงามยิ่งใหญ่ของไททันแบกโลกาได้ เขาอยู่ตรงหน้าเราแล้ว ส่วนเมฆที่เราสร้างขึ้นมานั้น มันก็ไม่ใช่จินตนาการ แต่เป็นความจริงอีกรูปแบบหนึ่ง

S: คุณพูดถูก แต่ถึงไม่สร้างสิ่งเหล่านี้ออกมา ก็ยังสามารถทำให้จิตใจสงบได้เช่นกัน... นี่แหละคือความแตกต่างในด้านแก่นแท้ของสองสำนักของเรา

เมื่อพิจารณาว่าอาจมีผู้อ่านบางคนที่ไม่สามารถเข้าใจบทสนทนานี้ได้ว่า คุณ Socrippe กับฉัน กำลังพูดคุยเรื่องอะไรกันอยู่กันแน่ ฉันก็ยินดีที่จะแปลงสิ่งนี้ให้เข้าใจง่ายขึ้น (แต่ไม่ใช่แบบที่แม่นยำ): สาเหตุที่สำนักภาชนะจิตปฏิเสธที่จะคิดแบบวิเคราะห์ เป็นเพราะพวกเขาใช้แรงกายมาบอกเราว่า การคิดแบบวิเคราะห์ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ทุกอย่าง บนโลกนี้ยังมีความรู้อีกมากมาย (ในสายตาของสำนักภาชนะจิต ทั้งศิลปะ อารมณ์ และความปรารถนา ต่างก็เป็นร่างแปลงของความรู้อีกที) ที่ไม่สามารถใช้การคิดวิเคราะห์มาสรุปรวมได้ สำนักภาชนะจิตไม่ใช่ไม่เก่งในการคิดวิเคราะห์ (เช่น ในบทสนทนาที่ฉันบันทึกไว้ เห็นได้ชัดว่าความคิดวิเคราะห์ของคุณ Socrippe ไม่ได้ด้อยไปกว่าฉันเลย) พวกเขาแค่ปฏิเสธที่จะใช้มาตรฐานของการวิเคราะห์มาเป็นมาตรวัดโลกใบนี้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ พวกเขาปฏิเสธที่จะลดทอนความคิด ให้เป็นความคิดที่เรียบง่ายยิ่งกว่า (ซึ่งนี่คือแก่นแท้ของสำนักเงื่อนคำนวณ)

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบทความเล็กๆ ของฉันถึงชื่อว่า "พื้นฐานทฤษฎีด้านการรับรู้ของสำนักภาชนะจิต" ซึ่งจากหลักการของสำนักเงื่อนคำนวณ สำนักภาชนะจิตจำเป็นต้องเผชิญหน้ากับจิตสำนึกโดยตรง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของจิตสำนึก

ถ้าสำนักภาชนะจิตไม่มีอยู่ เช่นนั้นลานพฤกษ์ก็จะไม่มีใครปฏิบัติเช่นนี้อีกแล้ว

หวังว่ามุมมองเช่นนี้ จะทำให้ทุกคนเข้าใจถึงคุณค่าในการมีอยู่ของสำนักภาชนะจิต (ถ้าคุณไม่อาจชื่นชมผลงานศิลปะของพวกเขาได้จริงๆ น่ะ)