สนธิสัญญาปราชญ์ทั้งเจ็ด
หน้าหนึ่งในตำราเรียนที่ใช้กันทั่วไป ในสำนักของลานพฤกษ์ปราชญา ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันได้ทรมานนักวิชาการมารุ่นต่อรุ่น ด้วยแนวข้อสำคัญที่ "ต้องท่องจำข้อความทั้งหมดให้ขึ้นใจ"

สนธิสัญญาปราชญ์ทั้งเจ็ด

บันทึกประวัติศาสตร์ของลานพฤกษ์ปราชญา ฉบับที่ 3 ผู้บันทึก: สำนักเมล็ดพันธุ์ปัญญา Herodotan ปีภาสุรคติที่ 4919

หลังจากก่อตั้งลานพฤกษ์ เหล่านักวิชาการยังคงมีความยับยั้งชั่งใจ ในการถกเถียงและความไม่ลงรอยต่างๆ แต่หลายร้อยปีต่อมา ในที่สุดการถกเถียงแบบเอาเป็นเอาตายก็ปะทุขึ้น สาเหตุนั้นเกิดจากสมดุลระหว่างเหตุผลและความเชื่อ นักวิชาการบางคนคิดว่า ลานพฤกษ์ควรจะแสวงหาความรู้อันบริสุทธิ์ แต่นักวิชาการบางคนกลับคิดว่า พวกเขาไม่ควรละทิ้งความยำเกรงต่อ Cerces การถกเถียงเริ่มรุนแรงขึ้น นักวิชาการแต่ละฝ่ายถึงขั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดกลุ่ม และแยกกันไปตั้งถิ่นฐานขึ้นในส่วนต่างๆ ของลานพฤกษ์

สำนักนิโลบลโภชนาย้ายจากลานเมตตา ไปยังป่าที่ห่างไกล ส่วนนักวิชาการของสำนักแพะสิงขร ก็พาสัตว์ของพวกเขาไปอาศัยอยู่ในป่าลึก และบรรดานักคณิตศาสตร์ของสำนักเงื่อนคำนวณ ก็ยังพูดออกมาด้วยว่าจะออกจากลานพฤกษ์แล้วไปตามหา "ดินแดนบริสุทธิ์ที่ไม่ถูกคนโง่เขลาทำให้แปดเปื้อน" เมื่อเห็นว่าดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งปัญญาแห่งนี้ กำลังแตกกระจายเป็นหลายส่วน ผู้นำของแต่ละสำนัก จึงจำเป็นต้องมานั่งปรึกษากันเพื่อหาทางออก

หลังจากเจรจาซ้ำๆ ต่อเนื่องมากว่าสามเดือน ในที่สุดทั้งเจ็ดสำนักก็ยินยอมจัดการประชุมขึ้นในลานล่าดารา ซึ่งการประชุมนี้กินเวลาไปเจ็ดวันเต็ม จากบันทึกในเวลานั้น การถกเถียงในวันแรกเกือบจะเสียการควบคุมแล้ว สำนักสักการะยืนยันว่า การวิจัยทุกอย่างควรมีพื้นฐานอยู่ที่การเคารพบูชาไททัน แต่สำนักเคลื่อนศิลากลับโต้แย้งว่า การเคารพเกินเหตุ จะขัดขวางการค้นหาความจริงได้ และสำนักภาชนะจิตก็ยังวิพากษ์วิจารณ์สำนักอื่นๆ อีกว่า "อ้างชื่อแห่งเหตุผลเพื่อกำจัดอิสระทางศิลปะ"

การโต้เถียงยืดเยื้อมาจนถึงวันที่สี่ จากนั้นพายุฝนฟ้าคะนอง ก็โหมกระหน่ำใส่ลานพฤกษ์ในยามกลางวัน เหล่านักวิชาการจึงต้องย้ายไปพักผ่อนที่โถงมิตรภาพเพื่อหลบฝน และในช่วงพักดื่มน้ำชานั้นเอง เหล่านักวิชาการก็เริ่มคิดถึงปัญหาพื้นฐานว่า ทำไม Cerces ถึงเลือกปรากฏตัวในรูปลักษณ์ของต้นไม้?

สำนักแพะสิงขรได้ชี้ให้เห็นว่า เพราะต้นไม้จำเป็นต้องหยั่งรากลึกลงไปในพื้นดิน และยื่นกิ่งก้านขึ้นสู่ท้องฟ้า ทั้งยังต้องปฏิบัติตามกฎแห่งการเจริญเติบโต และปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมด้วย นักคณิตศาสตร์ของสำนักเงื่อนคำนวณได้เสริมขึ้นว่า รูปร่างของต้นไม้นั้น ได้แฝงไว้ซึ่งโครงสร้างทางคณิตศาสตร์อย่างเข้มงวดที่สุด ส่วนสำนักนิโลบลโภชนาได้เตือนผู้คนว่า การเจริญเติบโตของต้นไม้นั้น จะขาดการบำรุงด้วยแสงแดด สายฝน และดินไม่ได้ เช่นเดียวกับการเติบโตของความรู้ ที่จำเป็นต้องได้รับการบำรุงจากหลายๆ แหล่ง

ในวันที่หก ในที่สุดทุกสำนักก็เห็นพ้องกันในเรื่องระบบการจัดการ โดยการสร้างระบบปราชญ์ทั้งเจ็ดขึ้นมา เพื่อให้แต่ละสำนักรักษาความเป็นอิสระ และคอยคานอำนาจซึ่งกันและกันไปด้วย แต่การถกเถียงเรื่องการเลือกปราชญ์ผู้นำ กลับเผชิญกับทางตันอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

แต่ละสำนักต่างก็คิดว่าตนเองเข้าใกล้แนวคิดของ Cerces มากที่สุด: สำนักเมล็ดพันธุ์ปัญญา เน้นที่การค้นหาแก่นแท้ของสิ่งมีชีวิต สำนักนิโลบลโภชนา ยึดมั่นในการฝึกฝนร่างกายและจิตใจ สำนักแพะสิงขร รักษาการกลับสู่ธรรมชาติ สำนักเงื่อนคำนวณ ยกย่องสรรเสริญตรรกะอย่างเข้มงวด สำนักสักการะ ให้ความสำคัญกับพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ สำนักเคลื่อนศิลา แสวงหาความสมดุลอันสมบูรณ์แบบ และสำนักภาชนะจิต เฝ้าปกปักอิสระของศิลปะ

การถกเถียงยืดเยื้อต่อเนื่องถึงวันหนึ่งคืน ผู้คนพากันเสนอแผนต่างๆ ออกมา ทั้งระบบการผลัดเปลี่ยน การจัดตั้งสภา ถึงขั้นการสุ่มเลือก แต่ก็ไม่อาจทำให้ทุกคนพอใจ ในขณะที่กำลังหาทางออกไม่ได้นั้น ใบไม้หนึ่งใบก็ได้ปลิวลงมาจากต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และตกลงบนโต๊ะประชุมพอดิบพอดี ซึ่งฉากนี้ทำให้นักวิชาการที่อยู่ตรงนั้นต่างพากันนึกถึงนิทานโบราณ: ครั้งหนึ่ง Cerces เคยบอกว่าระบบรากและใบไม้ของต้นไม้แห่งเหตุผลนั้น ต่างก็สำคัญเท่าๆ กัน หากละเลยด้านในด้านหนึ่งไป ต้นไม้ทั้งต้นก็จะเหี่ยวเฉา

หลังจากเงียบงันไปนาน ใครสักคนก็เสนอความคิดแรกขึ้นมา: ในเมื่อไม่มีใครสามารถเป็นตัวแทนของเหตุผลได้ งั้นก็ให้ตำแหน่งหัวหน้าว่างเปล่าไป เพื่อเป็นการแสดงความนับถือต่อ Cerces เมื่อคำแนะนำนี้เริ่มแพร่กระจายไป ทุกคนก็ค่อยๆ ให้การยอมรับ นี่ไม่ได้เป็นแค่สัญลักษณ์ของความเคารพต่อไททันเท่านั้น แต่ยังเป็นการเตือนใจนักวิชาการทุกคนด้วยว่า ไม่ว่าใครก็ไม่ควรก้าวข้ามเหตุผล

เมื่อถึงวันที่หก ในที่สุดทุกฝ่ายก็เห็นพ้องกันในเรื่องระบบการจัดการ: โดยการกำหนดเจ็ดนักปราชญ์ขึ้นมา เพื่อบรรลุความสมดุลภายในลานพฤกษ์ ซึ่งเจ็ดนักปราชญ์ไม่ได้เป็นแค่ผู้นำทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบการจัดการที่ฉลาดและรอบคอบด้วย

จนถึงตอนนี้ เจ็ดนักปราชญ์จะคอยรับผิดชอบหน้าที่สำคัญทั้งเจ็ดของลานพฤกษ์
1. ปราชญ์แห่งสำนักเมล็ดพันธุ์ปัญญา รับผิดชอบการตรวจสอบและวิจัย เพื่อรับประกันว่าการสำรวจ จะไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของลานพฤกษ์
2. ปราชญ์แห่งสำนักนิโลบลโภชนา รับผิดชอบเรื่องยาและอาหาร เพื่อรักษาสุขภาพกายและใจให้กับเหล่าอาจารย์และนักเรียน
3. ปราชญ์แห่งสำนักแพะสิงขร รับผิดชอบดูแลผืนป่าและสัตว์อสูรต่างๆ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างธรรมชาติและมนุษย์
4. ปราชญ์แห่งสำนักเงื่อนคำนวณ รับผิดชอบด้านหนังสือตำราและการจัดเก็บเอกสาร เพื่อรับประกันเรื่องการสืบทอดและการรักษาความรู้
5. ปราชญ์แห่งสำนักสักการะ รับผิดชอบจัดการพิธีสำคัญ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์ระหว่างลานพฤกษ์และไททัน
6. ปราชญ์แห่งสำนักเคลื่อนศิลา รับผิดชอบการฝึกฝนทางกาย เพื่อให้ร่างกายและจิตใจผสานตรงกัน
7. ปราชญ์แห่งสำนักภาชนะจิต รับผิดชอบการศึกษาศิลปะ เพื่อบ่มเพาะการเติบโตทางจิตใจและการรับรู้

อย่างที่สอง กฎความสมดุลอันเข้มงวด:
1. ระยะเวลาดำรงตำแหน่งของปราชญ์แต่ละคนคือเจ็ดปี และไม่สามารถเป็นปราชญ์จากสำนักเดียวกันได้
2. การตัดสินใจครั้งสำคัญ ต้องได้รับการเห็นชอบจากปราชญ์อย่างน้อยห้าคน
3. การทดลองหรือการวิจัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสามสำนักขึ้นไป จะต้องผ่านการพิจารณาร่วมกันจากปราชญ์ที่เกี่ยวข้อง
4. ปราชญ์แต่ละคน มีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธพฤติกรรมอันตรายใดๆ ภายในสำนักของตนเองได้
5. หากปราชญ์คนใดคนหนึ่งละเลยต่อหน้าที่ ปราชญ์ที่เหลืออีกหกคน สามารถร่วมกันดำเนินการขับออกจากตำแหน่งได้

สุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการสืบทอด จึงได้ตั้งกฎการสืบทอดตำแหน่งขึ้น:
1. ปราชญ์แต่ละคนจะต้องฝึกฝนผู้สืบทอดคนต่อไปสามคน
2. ผู้สืบทอดจะต้องได้รับการยอมรับ จากปราชญ์อย่างน้อยสี่คน
3. ผู้สืบทอดจากสำนักต่างๆ จะต้องเรียนรู้ความเชี่ยวชาญของกันและกัน
4. ผู้สืบทอดจะต้องอาศัยอยู่ในโถงมิตรภาพร่วมกันเป็นเวลาหนึ่งปี เพื่อสร้างความเข้าใจต่อกัน

ส่วนตำแหน่งหัวหน้า จะถูกเว้นให้กับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์และตัวของเหตุผลเอง

ในตอนท้ายของพิธีการ ทั้งเจ็ดสำนักได้ร่วมกันเขียนบทสรุปเอาไว้ว่า: "เราแสวงหาความรู้ แต่ไม่ล่วงล้ำขอบเขตของอัตลักษณ์เทพ เราเคารพในความศรัทธา แต่ไม่หันหลังให้กับเหตุผล เช่นเดียวกับใบไม้และรากของต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงถึงกัน ปัญญาและความเคารพ จึงต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน"

เมื่อดูจากผลกระทบในเวลาต่อมาแล้ว ผลลัพธ์จากการประชุมของเจ็ดนักปราชญ์ ไม่เพียงรับประกันถึงการพัฒนาอย่างมีอิสระทางวิชาการเท่านั้น แต่ยังรักษาสมดุลระหว่างสำนักไว้ด้วย และที่สำคัญกว่านั้น มันก็ได้เป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นหลังว่า ปัญญาที่แท้จริง มาจากการหลอมรวมที่หลากหลาย ไม่ใช่ความเป็นใหญ่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และความสมดุลที่เกิดขึ้นจากข้อตกลงในครั้งนี้ ทำให้ในเวลาต่อมา ลานพฤกษ์ปราชญาสามารถรักษาความมีชีวิตชีวามาได้เสมอ


ภาคผนวก: รายชื่อปราชญ์ทั้งเจ็ดแห่งลานพฤกษ์ในปัจจุบัน

สำนักนิโลบลโภชนา: Medea
สำนักแพะสิงขร: ███
สำนักเงื่อนคำนวณ: Apuleius
สำนักสักการะ: ██
สำนักเคลื่อนศิลา: ████
สำนักภาชนะจิต: Socrippe
สำนักเมล็ดพันธุ์ปัญญา: Anaxa