ว่าด้วยพิธีกรรมแต่ละภูมิภาค (บทคัดสรร)
บทคัดสรรจากงานเขียน ของนักวิชาการสำนักสักการะ หนังสือเล่มนี้พยายามอภิปราย ถึงความเหมือนและความต่าง ของพิธีกรรมสักการะไททัน ในแต่ละภูมิภาคของ Amphoreus

ว่าด้วยพิธีกรรมแต่ละภูมิภาค (บทคัดสรร)

(...)

ต่อไปนี้ ฉันจะยกตัวอย่างบางส่วน เพื่ออธิบายอิทธิพลของประเพณี และวัฒนธรรมของเมืองต่างๆ ที่มีต่อตำนานไททันท้องถิ่นให้เข้าใจง่ายๆ

ใน Amphoreus มีตำนานที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายอยู่เรื่องหนึ่ง: ในยุคทอง ชนเผ่าริมทะเลแห่งหนึ่งได้รับความเดือดร้อนจากคลื่นยักษ์ หัวหน้าเผ่าจึงนำพวกเขาสร้างเขื่อน ขุดร่องน้ำ เพื่อสกัดกั้นคลื่น แต่สิ่งนี้กลับทำให้ Phagousa นึกสนุก ใช้คลื่นยักษ์ทำลายสิ่งที่ผู้คนลงแรงสร้างขึ้นมาจนสูญสิ้นในชั่วพริบตา เมื่อเผชิญหน้ากับคำถามแสนเศร้าใจของหัวหน้าเผ่า ไททันจึงจำแลงกายเป็นวาฬยักษ์ว่ายมายังริมชายฝั่ง และพนันกับเขาว่า หากภายในเจ็ดวัน พวกเขาสามารถข้ามทะเลไปถึงเกาะเล็กๆ ที่อยู่อีกฟากของมหาสมุทรได้ ตนจะไม่รบกวนการพักผ่อนของพวกเขาอีกต่อไป และจะมอบสมบัติของตนให้ด้วย แต่หากพวกเขาทำไม่สำเร็จ ชายฝั่งแห่งนี้จะจมอยู่ใต้ทะเลตลอดไป

ตามตำนานที่เล่าขานกันโดยทั่วไปกล่าวว่า ท้ายที่สุดมนุษย์เป็นฝ่ายชนะ เพราะ Aquila ได้สอนวิธีสร้างแพให้แก่หัวหน้าเผ่าในความฝัน และระหว่างทางก็ได้รับความช่วยเหลือจาก Georios แต่ตามตำนานของเมืองชายฝั่งบางแห่ง (เช่น Aristia) ตั้งแต่ต้นจนจบ ไททันที่ปรากฏตัวมีเพียง Phagousa เท่านั้น สาเหตุที่เขาสอนทักษะการสร้างเรือให้แก่หัวหน้าเผ่า เป็นเพราะรู้สึกสนุกที่ถูกท้าทายจากมนุษย์ จึงใช้สิ่งนี้เพื่อรักษาความยุติธรรมของเกม และที่เลิกขัดขวางผู้คนในตอนสุดท้าย ก็เพราะประทับใจในความเข้มแข็งและกล้าหาญของพวกเขา

เมื่อเทียบกับตำนานที่แพร่หลายไปทั่ว ภาพลักษณ์ของ Phagousa ในเรื่องนี้ถูกปั้นแต่งให้มีความซับซ้อนและมีชีวิตชีวามากขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อีกทั้งลักษณะนิสัยและการกระทำของเทพทั้งสอง ก็มีจุดที่คล้ายคลึงกันมากกว่าเดิมด้วย เมื่อพิจารณาถึงการบูชาและความศรัทธาที่บรรดาเมืองชายฝั่งมีต่อ Phagousa ฉันจึงขอบังอาจตั้งสมมติฐานว่า ด้วยอิทธิพลของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ผู้คนจึง "สะท้อน" ความต้องการและความปรารถนาของตัวเองหรือชนเผ่า ผ่านไททันโดยไม่รู้ตัว

ต่อไปนี้ ฉันจะนำเสนอหลักฐานสนับสนุนความคิดข้างต้นในอีกมุมมองหนึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า ในบรรดาเรื่องตลกร้ายต่อทวยเทพของ Zagreus ที่โด่งดังที่สุดก็คือ เรื่องที่เขาซ่อนตัวอยู่ในเงาของรูปปั้น Mnestia เพื่อขโมยเครื่องสักการะของอีกฝ่าย ตามตำนานที่เล่าขานกันอย่างแพร่หลายนั้น ในตอนท้ายของเรื่องมีรายละเอียดที่ดูเหมือนไม่ค่อยสำคัญอยู่ เนื่องจาก Mnestia ไม่สามารถจับตัว Zagreus ได้ จึงนำโทสะไปลงกับนักบวชของตัวเอง โดยลงโทษให้สายตาของเขาไม่อาจมองเห็นความงามได้อีกต่อไป

แต่เพราะรายละเอียดเล็กๆ เช่นนี้เอง ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงเป็นวงกว้างในหมู่นักวิชาการและศิลปิน เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเมือง Aurelia หรือ Milios และเมืองต่างๆ อยู่หลายครั้ง... เพราะความแตกต่างของภูมิหลัง จุดยืน และแนวคิดของแต่ละคน ทำให้ผู้คนยอมรับเรื่อง "ทัณฑ์ศักดิ์สิทธิ์ที่เอาแต่ใจของเทพเจ้า" ได้มากน้อยแตกต่างกัน ผู้ศรัทธาอย่างสุดโต่ง Mnestia บางส่วนไม่ยอมรับเรื่องนี้ ทั้งยังแสดงท่าทีแข็งกร้าว บอกว่านี่เป็นการ "ดูหมิ่นเทพเจ้าผู้สมบูรณ์แบบอย่างน่าละอาย" และถือว่านี่เป็นเรื่องต้องห้าม ที่ไม่ควรพูดถึงในพิธีการสักการะต่างๆ อีกด้วย

เมื่อยึดจากเนื้อหาที่กล่าวมาข้างต้น ก็สามารถนำไปสู่รายละเอียดที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทความนี้: ความแตกต่างของพิธีสักการะไททันในพื้นที่ต่างๆ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดการสักการะตาม "ความชอบและความเอนเอียงของทวยเทพ" ที่ได้รับรู้มาเพื่อทำให้ไททันพึงพอใจอย่างไร

(...)